เมโลดี้ที่รัก
melody ตอนผู้เขียนเป็นเด็กเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแล้วเกิดความประทับใจและซาบซึ้งมากคือ ภาพยนตร์เรื่องเมโลดี้ (Melody) จำได้ว่ามีชื่อภาษาไทยว่าเมโลดี้ที่รัก เป็นภาพยนตร์ที่สร้างในปี 1971 เป็นภาพยนตร์ที่ใช้บรรยากาศและสภาพสังคมของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นฉากหลัง
เรื่องราวของเด็กชายและเด็กหญิงที่มีความรู้สึกที่น่าจะเรียกว่าความรักในวัยเยาว์ หรือจะเป็นความรักที่ไร้เดียงสาแบบที่เป็นมุมมองด้านความรักของเด็กที่ไม่ใช่เด็กเล็กแต่ก็ยังไม่ถึงกับโตเป็นวัยรุ่น จึงยังมีเรื่องราวความแก่นและซนของเด็กในสมัยนั้นมาเป็นองค์ประกอบร่วมในภาพยนตร์ด้วยซึ่งสร้างความปวดหัวให้กับบรรดาผู้ใหญ่ทั้งคุณครูและผู้ปกครองของพวกเขา
เด็กชายแดเนียล ลาติเมอร์ เป็นเด็กชายวัย 11 ปี เป็นลูกชายของครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกที่อยู่ในสังคมที่มีฐานะดีของอังกฤษ แดเนียลมีเพื่อนสนิทชื่อเด็กชายทอม ออร์นชอว์ เป็นเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับปู่ของตัวเอง ออร์นชอว์เป็นเด็กหัวโจกประจำชั้นซึ่งมักจะนำเพื่อนเล่นสนุกแบบห่ามๆอยู่เสมอ
แดเนียลและออร์นชอว์เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนชั้นประถม ที่โรงเรียนเซาท์ลอนดอน วันหนึ่งแดเนียลได้พบกับเด็กหญิงเมโลดี้ เพอร์กิ้น ที่เรียนอยู่คนละห้องกันที่ห้องซ้อมเต้นรำของโรงเรียน แดเนียลเห็นเมโลดี้กำลังซ้อมเต้นบัลเลย์อยู่และประทับใจในความน่ารักของเธอตั้งแต่วันนั้น เมโลดี้เติบโตมาจากครอบครัวที่มีพ่อกับแม่และย่าของเธออยู่ด้วยกัน
โดยที่พอของเธอชอบดื่มเหล้าและใช้เวลาอยู่ในผับทั้งวัน เมโลดี้จึงมีโลกส่วนตัวของเธอเอง
เมื่อแดเนียลพบกับเมโลดี้อีกครั้งในงานของโรงเรียน ทั้งคู่สนิทกันโดยทันที และเริ่มออกไปเที่ยวกันแบบเด็กๆ วันหนึ่งทั้งสองตัดสินใจหนีไปเที่ยวทะเลกันสองคน เพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างกล่าวขานและล้อเลียนทั้งคู่ แดเนียลและเมโลดี้เข้าใจตัวเองดีว่าทั้งสองมีความรักต่อกัน และตั้งใจที่จะแต่งงานกัน พร้อมกับประกาศให้คนอื่นทราบถึงความตั้งใจจะใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน
ทั้งสองจึงนำเรื่องนี้ไปบอกกับครอบครัวและครูใหญ่ ซึ่งบรรดาผู้ใหญ่เห็นว่าเรื่องความตั้งใจแต่งงานกันของทั้งคู่นี้เป็นเรื่องเหลวไหล
บ่ายวันหนึ่งครูใหญ่ต้องตกใจเมื่อพบว่าเด็กนักเรียนทั้งชั้นหายออกไปจากโรงเรียน จนต้องเกณฑ์ครูทั้งโรงเรียนออกตามหากันจ้าละหวั่น และพบว่านักเรียนทั้งชั้นไปรวมตัวกันอยู่ที่โบสถ์ร้างข้างสถานีรถไฟ เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีแต่งงานระหว่างแดเนียลกับเมโลดี้
โดยการจัดการของออร์นชอว์ จนเมื่อบรรดาครูไปพบเหตุการณ์นี้เข้า เด็กๆถึงกับก่อเหตุปั่นป่วนต่างๆให้ครูต้องปวดหัวไปตามๆกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดประสงค์ที่จะสื่อให้เห็นว่าเด็กก็สามารถมีความรักที่บริสุทธิ์ต่อกันได้แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจความหมายของการมีครอบครัวหรือการแต่งงาน แต่ก็อยากจะให้คนรอบข้างยอมรับในความตั้งใจจนดูเหมือนจะแก่แดดเกินกว่าวัยของตัวเอง และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนภาพของช่องว่างของความเข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จนนำไปสู่การต่อต้านกฎระเบียบและสร้างความวุ่นวายใจให้กับบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลาย
โดยเฉพาะการรวมหัวกันสร้างระเบิดของกลุ่มเด็กชาย กับฉากนักเรียนทั้งหญิงชายรุมป่วนบรรดาครูในตอนท้ายของเรื่อง รวมทั้งประโยคที่ทิ้งไว้ให้ได้คิดที่ว่า “ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายที่ถูกเสมอ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เพลงประกอบของคณะเดอะบีจีส์ (The Bee Gees) หลายเพลง เป็นเพลงที่อยู่ในช่วงต้นๆของพวกเขาที่แนวเพลงจะออกเป็นแนวซอฟท์ร็อคแบบหวานนุ่มและติดตรึงอยู่ในใจของวัยรุ่นสมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นเพลง In the Morning, Melody Fair, First of May และ To Love Somebody รวมทั้งเพลง Teach Your Children ของ ครอสบี้ สติล แนช แอนด์ ยัง (Crosby Stills Nash and Young) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงโฟล์คร็อคระดับตำนานเลย
ภาพยนตร์เรื่องเมโลดี้เป็นภาพยนตร์ปี 1971 กำกับการแสดงโดยแวริส ฮุสเซน (Waris Hussein) อำนวยการสร้างโดยเดวิด พัทนัม (David Puttnam) เขียนบทโดยอลัน ปาร์คเกอร์ (Alan Parker) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในกรุงลอนดอนตลอดทั้งเรื่อง
ยกเว้นฉากชายทะเลที่ถ่ายทำที่เวย์เมาธ์ นำแสดงโดยมาร์ค เลสเตอร์ (Mark Lester) เป็นแดเนียล เทรซี่ย์ ไฮด์ (Tracy Hyde) เป็นเมโลดี้ และแจ๊ค ไวล์ด (Jack Wild) เป็นออร์นชอว์
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จนักทางด้านรายได้เมื่อออกฉายในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายเมื่อออกฉายในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกงและประเทศไทย รวมทั้งประเทศในอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนติน่า ตลอดจนถึงประเทศอาฟริกาใต้ เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เมโลดี้เลยก็ว่าได้
เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเกิดกระแสความนิยมในวงดนตรีเดอะบีจีส์อย่างมากจนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงดนตรีสามพี่น้องจากประเทศออสเตรเลียวงนี้โด่งดังขึ้นเป็นครั้งแรกเลย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเรียกได้ว่าเกิดกระแสคลั่งบีจีส์ก็ว่าได้
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ในอังกฤษและอเมริกาไม่ค่อยให้ความสนใจกันนักและมองว่าเป็นภาพยนตร์ระดับธรรมดาทั่วๆไป แต่กลับสร้างกระแสความนิยมไปทั่วโลกได้ โดยสาเหตุคงเป็นเพราะความสดใสน่ารักของนักแสดงนำทั้งมาร์ค เลสเตอร์และเทรซี่ ไฮด์ที่จะหาเด็กสาวที่มีหน้าตาสวยน่ารักเท่าเธอคงแทบจะไม่มีอีกแล้ว
รวมทั้งความยียวนกวนประสาทของแจ๊ค ไวลด์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาแสดงในเมโลดี้ ทั้งมาร์ค เลสเตอร์และแจ๊ค ไวลด์ก็ได้ฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์เพลงเรื่องยิ่งใหญ่ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์มาแล้วคือ โอลิเวอร์ (Oliver) จากบทประพันธ์ของชาล์ส ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ปัจจุบันนักแสดงนำทั้งสองคนก็อายุเกินหกสิบปีกันหมดแล้วและเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งคน
เมื่อปี 1994 รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ได้นำมาร์ค เลสเตอร์ และเทรซี่ ไฮด์มาพบกันอีกครั้งซึ่งตอนนั้นเทรซี่ ไฮด์แต่งงานแล้วและมีบุตรสามคน ต่อมาภายหลังเธอได้แต่งงานใหม่และกลับมาอยู่ที่กรุงลอนดอนโดยทำธุรกิจกับครอบครัว ส่วนมาร์ค เลสเตอร์เลิกแสดงภาพยนตร์ในปี 1980 ปัจจุบันเขาทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด ส่วนแจ๊ค ไวลด์เสียชีวิตเมื่อปี 2006
เมื่อมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งความรู้สึกไม่เหมือนเดิมตรงที่ความซาบซึ้งและรู้สึกมีส่วนร่วมแบบสมัยเป็นวัยรุ่นแทบไม่เหลืออยู่ แต่ความรู้สึกดีๆที่ว่าความรักยังคงเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอโดยเฉพาะความรักระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิงที่บริสุทธิ์สดใสและไม่มีเรื่องของความต้องการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งคงจะเป็นไปแทบไม่ได้ในปัจจุบัน